วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เวลาเด็กทะเลาะหรือชกต่อยกัน ลำปลายมาศพัฒนามีวิธีการจัดการอย่างไร ?

(ถามโดยครูและบุคคลทั่วไป)

ตอบ  :  ความขัดแย้งหรือการคิดเห็นที่แตกต่างมีแน่นอน  ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เด็กเรียนที่จะจัดระยะของตัวเองกับคนอื่น  รู้ที่จะปรับบทบาทตนเองในการอยู่ในสังคม  เหมือนกรณีล้างถั่วลิสง  เราเพียงใส่ตะกร้าเขย่าน้ำ  เปลือกถั่วที่กระทบกระทั่งกันจะทำให้เปลือกถั่วขาวสะอาดขึ้นมาเอง  บางครั้งการกระทบกระทั่งก็เป็นเรื่องของเด็ก  ถ้าผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องจะกลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทันที  และถ้าเกิดกรณีชกต่อยหรือทะเลาะวิวาทกันในโรงเรียน  ครูที่นี้จะมีแนวทางในการจัดการหรือปรับพฤติกรรมเป็นแนวทางเดียวกันคือ  ไม่ตัดสิน  ไม่ชี้ความผิดหรือไม่หาคนผิดคนถูก  แต่ครูจะใช้คำถาม 
          คำถามแรกคือ    "เกิดอะไรขึ้นช่วยเล่าให้ครูฟังที่ละคน"  แล้วเด็กแต่ละคนก็จะเล่า  ถ้ามีใครสักคนที่พูดไม่ตรงก็จะมีอีกคนแย้งขึ้นมา  สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เด็กเขาเป็นคนบอกเองว่าเขาได้ทำผิดอะไร  พอครูรู้สาเหตุแล้ว  
          คำถามที่สองคือ  ในเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว  ช่วยครูคิดหน่อยว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง ?  เด็กก็จะต้องช่วยกันคิดอีก  ก็จะได้วิธีการหรือแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดจากเด็กเอง  สิ่งนี้คือสิ่งที่เด็กเป็นคนบอกว่าเขาจะรับผิดชอบอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น
           จะเห็นว่าจาก  2  คำถามเด็กจะเป็นคนบอกเองว่าเขาทำผิดอะไร  และเป็นคนบอกเองว่าเขาจะรับผิดชอบหรือแก้ไขอย่างไร  ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เกิดจากตัวเด็กเอง  เขาเป็นคนรู้เอง  และคิดแก้ปัญหาเอง  ไม่ใช้ครูหรือคนอื่นเป็นคนชี้ความผิดและเป็นคนไปตัดสิ้นความผิดนั้น  ถ้าทำเช่นนั้นเด็กจะไม่เกิดความรู้สึกที่จะตระหนักเลย  เพราะไม่เกิดจากตัวเขาเองแต่เกิดจากคนอื่นบอก

อ่านเพิ่มเติมได้ที่  หนังสือโรงเรียนนอกกะลา  เขียนโดย  วิเชียร  ไชยบัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น